วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (1)



    วันนี้พวกเราก็มาร่วมกัน  เพื่อศึกษาชีวิตของเรา  การดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดมาถึงวันนี้   สังเกตดูเราทุกคนต้องการความสุข  ความสงบกันทั้งนั้น   ตั้งแต่เด็กอนุบาล  เด็กเล็ก ๆ ดิ้นรนต่อสู้แสวงหาความสุขกัน   แต่ความสุขของเราที่เราต้องการมากที่สุดข้อนข้างหายาก   ยากที่จะมีความสุขได้  เพราะเรามองข้ามในสิ่งที่สำคัญคือ  ใจ   จิตใจของเรา

    ใจเป็นประธาน  ในเป็นหัวหน้าของชีวิต   เราต้องรู้จักจิตใจของตัวเอง   ต้องรู้จักรักษาจิตใจของตัวเอง  ต้องทำจิตใจให้มีกำลังใจดี   การดำเนินชีวิตทั่ว ๆ  ไป   เรามักจะมองในสิ่งภายนอก  เช่น  หาเงิน   หาทอง   หาเกียรติยศ   สรรเสริญต่าง ๆ หรือว่าแสวงหาความสุขภายนอก   ปกติเราก็แสวงหาความสุข  ภายนอก  คิดว่าสักวันหนึ่ง  จะมีความสุขเมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาแล้ว  เราก็ดิ้นรนต่อสู้แสวงหาสิ่งนั้น ๆ   อยู่ตลอดร้อยปี   สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็คิดอยากได้  คิดอยู่อย่างนั้น   ถึงแม้ว่าได้สมความปรารถนา  แต่ความสุขเกิดแป๊ปเดียวก็หายไป


     ถ้าจิตใจไม่ดีแล้ว  ถึงแม้ว่ารวยขนาดไหนก็ตาม  ถึงแม้ว่าได้รับเกียรติยศ  สรรเสริญขนาดไหนก็ตาม  ถึงแม้ว่าเราอยู่กับคนถูกใจก็ตาม  เมื่อใจไม่้ดีแล้วก็หาความสุขไม่ได้  มีแต่ใจเสียกับเสียใจ  มีแต่ไม่สบายใจ   จิตใจเราก็ต้องเผชิญอุปสรรคที่เ้ป็นเสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์ต่าง ๆ  เป็นธรรมดา  แต่ถ้าใจดีเราก็สามารถผ่านอุปสรรคได้ด้วยดี

     ชีวิตเราทุกวันนี้ลองสังเกตดูจิตใจของเราจะพบว่ามักมีอุปทานยึดมั่นถือมั่นใจความรู้สึกที่ไม่ดี  หรือคิดมากแล้วก็ไม่สบายใจ  เรามักติดอยู่อย่างนั้น  มนุษย์เรา  ๖,๕๐๐  ล้านคม  ถ้าไม่ปกจิตแล้วก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ทุกคน

    เมื่อสิ่งภายนอกถูกใจ   เราก็สบายใจมีความสุข  เราก็คิดอยู่แต่ในสิ่งภายนอกที่เกิดกับชีวิตเรา  แต่หากชีวิตของเราต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ  แล้วเราจะมีความสุขได้หรือ ?  เรื่องที่เราไม่ปรารถนากำลังเกิดกับร่างกายของเราอยู่ทุกวันทุกวินาทีกายของเรากำลังแก่  กำลังเจ็บกำลังตาย   หรือว่าเราต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ  สิ่งไม่ชอบใจก็มีมาก   ตรงกันข้ามก็คือต้องการอยู่โดยปราศจากคนที่เรารัก  สิ่งที่เรารักก็มีมาก  หรือฐานะเราเป็นปุถุชน  เรามีความปรารถนาต่าง ๆ มาก  อยากไ้ด้   อยากมี  อยากเป็น  เมื่อผิดหวังไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์  เกิดความรู้สึกอัตตาตัวตน  เกิดความรู้สึกเห็นแก่ตัว  เิิกิดความรู้สึกทุกข์  พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจสี่  ข้อแรกก็เป็นทุกข์สัจ   ชีวิตของเราเป็นทุกข์  เรา้ต้องยอมรับความจริง

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (2)

   ทุกข์สัจเป็นจริงกับทุกชีวิต  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน   แม้ว่าพระองค์จะสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ตาม   สังเกตดูชีวิตของพระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีปัญญา   มีเมตตากรุณา   ชีวิตของพระพุทธเจ้า   โดยเฉพาะหลังจากสำเร็จเป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  จนเข้ามหาปรินิพาน  ๔๕  พรรษา   ชีวิตของพระพุทธเจ้าก็เป็นชีวิตที่ทำความดี  บริสุทธิ์ทั้งกาย  วาจา   และจิตใจ   แต่แม้พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ขนาดไหนพระพุทธเจ้าก็ยังประสบกับ  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ   นินทา  ทุกข์   เหมือนกัน เราต้องมองเห็นชัด ๆ


      สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน  แต่ความจริงอย่างหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า  ก็มองเห็นชัด ๆ  ว่า  เมื่อทำใจได้  หากเรามีทุกข์ก็พ้นทุกข์ได้   เรื่องปัญหาภายนอกที่แก้ไม่ได้ก็มีอยู่  แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการทำใจให้ได้  ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ให้มีกำลังใจได้   ถ้ามีกำลังใจแล้ว  เราก็ดำเนินชีวิตได้ด้วยดี  มีกำลังใจน้อย  มีกำลังใจมาก   อยู่ที่เราเห็นความสำคัญของการสร้างกำลังใจหรือไม่  อย่างไร

      
      ใจนี้สำคัญที่สุด   เราไม่ค่อยสอนกัน  ความสุขอยู่ที่ไหน  เรามักจะนึกถึงสิ่งภายนอกกันทั้งนั้น   ต้องอยู่ดีกินดี   การศึกษาดีครอบครัวรักกัน  ไม่มีทะเลาะกัน   นี่คือความสุขที่เกิดขึ้นจากสิ่งภายนอก  ถูกใจ  พอใจ   ถ้าสิ่งภายนอกถูกใจ (ได้ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข)   ก็ดีใจ   ถ้าสิ่งภายนอกเราไม่ถูกใจ  (เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  นินทา  ทุกข์)  ก็เสียใจ  ไม่พอใจ

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (3)

    การเจริญอานาปานสติก็เป็นความพยายามเพื่อสร้างกำลังใจ  หรือพูดง่าย ๆ ชีวิตของเราประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ   ปกติเราเอาใจใส่ในการดูแลรักษาร่างกายมาก  เช่น  การรักษาชีวิต   การรักษาสุขภาพด้วยหลายสิ่ง  หลายอย่าง  หาเงิน  หาทอง  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับร่างกาย  นอกจากป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ  เมื่อเราไม่สบายก็พยายามรักษา  ไปโรงพยาบาล  ดูแลเรื่องโภชนาการอาหาร  หลายสิ่งหลายอย่างก็เพื่อให้สุขภาพกายดีให้อายุยืน   สิ่งเหล่านี้เราพยายามมากพอสมควร  แต่เรื่องจิตใจเป็นอย่างไร ? 


     เรื่องจิตใจให้มีสุขภาพใจดีเป็นเป้าหมายเบื้องต้น  เมื่อพูดถึงอนาปานสติเพื่อสุขภาพใจดี   สำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไป  เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์  สิ่งที่แน่นอนสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือต้องการความสุข  แต่เราก็ต้องดูที่จิตใจด้วย   ไม่ใช่ว่ามองแต่ทางกายอย่างเดียว   ทางกายถึงแม้ว่าเรารักษาดีขนาดไหนก็ตาม  ชีวิตร่างกายของเรา   กำลังแก่   กำลังเจ็บ   กำลังตาย   สิ่งเหล่านี้ห้ามไม่ได้ชีวิตของเราก็ไม่เกินร้อยปี   วันนี้เราอายุเท่าไหร่ ?   อายุเท่าไหร่ก็เป็นชีวิตที่ผ่านไป   ถึงแม้ว่าดูแลอย่างดีขนาดไหน

     ก็ตาม  ชีวิตของเราก็อายุไม่เกินร้อยปี   ก็ต้องจากไป  ต้องตายก็จริงอยู่   ทีนี้เมื่อเรามองดูจิตใจ  แม้ว่าร่างกายของเรากำลังแก่  กำลังเจ็บ  กำลังตายก็จริงอยู่  แต่จิตใจของเราไม่แก่   ไม่เจ็บ  ไม่ตาย  กำลังทำหน้าที่สะสมความดี  บุญกรรมไว้ที่จิตใจ  ถ้าเราทำความชั่วแล้วบาปกรรมก็สะสมที่จิตใจเช่นกัน   ดังนั้นถ้ามองเห็นที่จิตใจได้แล้ว  การใช้ชีวิตของเราก็ต้องมีการฝึกจิต  ฝึกใจด้วยการเจริญอานาปานสติ

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (4)

   
       การเจริญอานาปานสติ  เป็นอย่างไร ?  อานาปานสติต้องรักษาสุขภาพใจดีเป็นเป้าหมาย จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสถึงอานาปานสติไว้ว่า   การเจริญอานาปานสติมีผลใหญ่  มีอานิสงส์ใหญ่  ทำให้สามารถเจริญ  สติปัฏฐาน   ๔  ให้บริบรูณ์  การเจริญสติปัฏฐาน  ๔  ย่อมให้โพชฌงค์  ๗  สมบรูณ์  และการเจริญโพชฌงค์  ๗  ให้มากย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติสมบรูณ์จิตใจของเราก็จะเข้าถึงอริยมรรค  อริยผล  เข้าถึงพระนิพพาน  ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามหลักอานาปานสติแล้ว  พระันิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด

    ทีนี้สำหรับเราทุกคน  โดยเฉพาะเมื่อเป็นชาวพุทธ  เราต้องตั้งเป้าหมายอยู่ที่สุขภาพใจไม่ดี  สุขภาพใจไม่ดีคือลักษณะอย่างไร ?   สุขภาพใจไม่ได้  ก็ขี้เกียจ  ขี้ฟุ้งซ่าน  ขี้น้อยใจ  ขี้กลัว  ขี้โกรธ  ขี้อิจฉา   เป็นต้น   การอธิบายเรื่ิิองจิตใจ  ภาษาไทยบอกชัด ๆ  ถ้านำด้วยคำว่า "ขี้"  ก็หมายถึงสกปรก  การเจริญอานาปานสติ  ก็คือ  การระลึกถึงลมหายใจออก  ลมหายใจเข้าเป็นเบื้องต้น  ปกติพูดถึงอานาปานสติหลายคนก็เข้าใจผิด ว่าเป็นสมถกรรมฐาน  เพียงแต่ทำจิตใจสงบอย่างเดียว  จริง ๆ แล้วการเจริญอานาปานสติเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔   ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้

   สติปัฏฐาน  ๔  คือ  มองดูทั้งหมด  มองดูกาย  และจิตใจ  และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ  เราพยายามมองเห็นตามความจริงของชีวิตคือการเจริญอานาปานสติ  เราต้องเข้าใจ  การรักษาจิตใจตลอดวัน   ตลอดคืน   ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เมื่อพูดถึงสุขภาพใจดี  เราต้องติดตามดูจิตตลอดกลางวัน  กลางคืน  ตลอดชีวิต  บางทีเรียกว่าเป็นอานาปานสติ

     ความหมายของอานาปานสติ  ตามรูปศัพท์แล้ว  อานาปานสติ  คือ   ระลึกถึงลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า  แต่ในการปฏิบัติจริง ๆ แล้ว  การเจริญอานาปานสติ  คือ  การกำหนดดูตัวเราเองทั้งหมดทั้งกายและจิตใจ  ตามดูเฉพาะจิต  รักษาจิต  ตลอดวัน  ตลอดคืน  เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้


       เพื่อให้เข้าใจชัดเจน  สมมุติว่าอานาปานสติเป็นหน้าต่าง  หน้าต่างที่จะมองดูจิตใจ   สมมุติว่าห้องนี้ปิดรอบ  ๆ มีหน้าต่างเพียงบานเดียว   เพื่อเรามองดูจากข้างนอก   ทำนองนี้อานาปานสติก็เป็นหน้าต่างที่ใช้ทองดูจิตใจ

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (5)

    การเจริญอานาปานสติ   เราเริ่มต้นดูตัวลมหายใจ  เราพยายามกำหนดรู้ตัวลมหายใจ   ถ้าเป็นหน้าต่างแล้ว  ขอบหน้าต่าง  หน้าต่างอยู่ที่ไหน  กำหนดดูหน้าต่าง  เริ่มต้นดูหน้าต่าง  คือ การเจริญอานาปานสติ  ระลึกลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า



   วิธีกำหนดง่าย ๆ  ที่กำลังนั่งอยู่ก็ลองดู  หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ เกิดความรู้สึกตัวชัดเจน  หายใจเข้าลึก ๆ  หายใจออกยาว ๆ  ลักษณะกดเบา ๆ  หายใจออกยาว ๆ  หายใจเข้า  หายใจออก   เพียงแต่เราตั้งใจปรับปรุงลมหายใจ   หายใจยาว ๆ  แล้วเกิดความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นจากการหายใจ  เราพยายามให้มีความรู้สึกตัวชัดเจนในการหายใจออก  หายใจเข้า  เป็นวิธีหนึ่งที่อาจารย์ใช้เสมอ   ถ้าเป็นกรรมฐานอื่น ๆ  ก็ใช้อุบายบริกรรมหลายอย่าง  บางคนใช้สัมมา  อรหัง   ยุบหนอ  พองหนอ  หรืออะไรก็ตาม   นึกภาษาพยายามกำหนด  สำหรับสากลทั่วโลกมนุษย์ทุกคน ๖,๕๐๐  ล้านคน   ก็กำหนดลมหายใจได้  ไม่ต้องใช้ภาษาอะไร  เพียงแต่เราก็ปรับปรุงลมหายใจให้ยาว ๆ  หน่อย  หายใจเข้าลึก ๆ  หายใจออกยาว ๆ  หายใจเข้าลึก ๆ  หายใจออกยาว ๆ  ต้องให้พอดี  พอดี  การกำหนดลมหายใจต้องสบาย ๆ  ในที่สุดเราก็พอดี ๆ หายใจเข้าสบาย  หายใจออกสบาย  แล้วจิตใจสบาย


อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (6)

  


     เราสังเกตุดูเมื่อเราสามารถระลึกรู้ลมหายใจออก   ลมหายใจเข้า  จิตใจของเราก็จะหยุดคิดใช่ไหม ?  หยุดคิดเรื่องอดีตก็ดี  คิดเรื่องอนาคต  คิดเรื่องใครดี  ใครไม่ดี   หรือเราทำดี  เราทำชั่ว   เราชอบ  ไม่ชอบ   สิ่งเหล่านี้หยุดคิดไว้ก่อน  สุขภาพใจดี  ก็เป็นสงบใจ  สบายใจ  เราก็ปล่อยวางคนนี้คนนั้น  แม้แต่ตัวเองเราเป็นใครก็หยุดคิด  สังเกตดูหายใจเข้าลึก ๆ  หายใจออกยาว ๆ   เมื่อทำใจสงบ  มีความรู้สึกตัวชัดเจน  ลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า  ผู้หญิงก็ดี  ผู้ชายก็ดี  มีความรู้สึกเหมือนกัน   ไม่มีความรู้สึกเราเป็นผู้หญิง   เราเป็นผู้ชาย   เพียงแต่เราก็ระลึกรู้กายวัตถุอย่างหนึ่งก็มีอยู่  กายกำลังนั่งอยู่   ลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า   ถ้าความนึกคิดเกิดขึ้น   เราต้องพยายามกำหนดกาย   กำหนดลมหายใจ  เมื่้อรู้สึกตัวอยู่ที่ลมหายใจออก   ลมหายใจเข้าแล้วความคิดก็หายไป   พยายามทำใจสงบ   เป็นจิตใจที่มีกำลังใจ  เราก็สามารถหยุดได้  หยุดความรู้สึกขี้เกียจ  หยุดความรู้สึกนึกคิดฟุ้งซ่าน  หยุดความรู้สึกนึกคิดโกรธบ้าง  น้อยใจบ้าง   เสียใจบ้าง  เป็นสุขภาพใจที่ไม่ดี   เราก็ต้องหยุด  ต้องปล่อยวางเพียงแต่หายใจเข้าลึก ๆ  หายใจออกยาว ๆ  จนมีสติเกิดขึ้น  มีสติสัมปชัญญะ   ความรู้สึกตัวชัดเจนหรือมีจิตตั้งมั่นกับลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า  เมื่อมองเห็นลมหายใจชัดเจนแล้ว  ขณะนั้น  ก็สังเกตดูคำว่าไม่สบายใจนี้ตั้งอยู่ไม่ได้

อานาปานสติในชีวิตประจำวัน (7)

   เมื่อจิตตั้งมั่นกับลมหาายใจ  หรือมีความรู้สึกตัวชัดเจน  ลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า  ไม่สบายใจนี้ตั้งอยู่ไม่ได้   ถ้าไม่สบายใจอยู่  ถ้าเรานึกคิดฟุ้งซ่้านอยู่  ก็แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเรายังไม่พอ  ถ้าเรารึกลึกถึงลมหายใจออก   ลมหายใจเข้า  จนมีึความรู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจออก    ลมหายใจเข้า   ช่วงนั้นหรือขณะนั้นจิตใจของเราก็จะสงบเบาสบายใจ  มีความสุขใจหรือเกิดขึ้นไหม ?  ถ้าสงบ  สบายใจ   มีความสุขใจก็ให้มีความรู้สึกตัวได้   นี่คือ  สภาพจิใจดี  ใจสงบ


     อานาปานสติ  ระลึกรู้ลมหายใจออก  ลมหายใจเข้า   เมื่อใจสงบ  มีความรู้สึกสบายใจ  นี่ก็เป็นสุขภาพใจดี  เมื่อเรารู้จักสุขภาพใจดีคือเพียงแต่หยุดคิด  เพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะความรู้สึกตัวชัดเจน  เราจะสบายใจเดี๋ยวนี้ได้
 
     การปฏิบัติของเราในแต่ละวัน  ก็ให้หาเวลาช่วงหนึ่ง  ตั้งใจเจริญอานาปานสติ  สัก ๑๐  นาที  ๑๕  นาที  หรือครึ่งชั่วโมง   หรือใครมีเวลามากพอสมควรก็เป็นชั่วโมงก็ได้   ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ  แค่  ๑๐ - ๑๕  นาที  ก็ได้เป็นการตั้งใจหรืออาจเป็นก่อนนอนก็จะเหมาะสม   ปกติก่อนนอนเราพอมีเวลานั่งสมาธิ  เราทบทวนว่าตั้งแต่ตอนเช้า  เราทำอะไรบ้าง   การกระทำของเราที่ผิด ๆ ถูก ๆ เป็นอย่างไรบ้าง   เมื่อเราสำรวจดูชีวิตของเราในวันหนึ่ง  ถ้าเรามีความรู้สึกว่าทำอะไรผิด  ไม่น่าทำเราทำแล้วสในสิ่งที่ไม่น่าทำ  ถ้าเราระลึกได้  เราก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำอีก  ตั้งใจแน่วแน่  หลังจากนั้นเราก็ทำความรู้สึกอดีตไม่มีโอปนยิโก  น้อมเข้าไปหาสุขภาพใจดี  หรือจิตใจที่บริสุทธิ์